ธรรมะชิลชิล กับ woraphat555 (วรภัทร์ ภู่เจริญ) Dharma Chill Chill with Woraphat Phucharoen : Vipassana / Meditation/ Sati practicing / zen / tao / Dialogue / Buddhism /
Tuesday, August 28, 2012
ทำไมต้องนั่งสมาธิ
มีหลายท่าน ชวนให้ผมแนะนำเรื่อง "การนั่งสมาธิ"(Meditation)
ดังนั้น เพื่อให้ หลายคนสบายใจ ว่า "นั่งสมาธิ" ทำยังไง ผมขออนุญาต อธิบายตามความเข้าใจของผมเอง ดังนี้
(๑) คำว่า "สมาธิ" นี้ ผมคิดเอาเองว่า เป็็น คำขยายกิริยา (adverb) เพื่อทำให้ กิริยานั้น ดู "ต่อเนื่อง"(Continuous) "คงที่" "ไม่เปลี่ยนแปลง"(Constant) ยั่งยืน ไม่ว่อกแว่ก จดจ่อ ฯลฯ
เช่น เล่นเกมส์อย่างมีสมาธิ ฟังอย่างมีสมาธิ มีสมาธิในการเล่นดนตรี เป็นต้น
(๒) ในทางธรรม ผมเชื่อของผมเองว่า จิตเป็นสมาธิ หมายถึง อาการของจิตที่มีลักษณะ นิ่ง ว่าง โล่ง โปร่ง สบาย อย่างต่อเนื่อง อย่างคงที่ อย่างยั่งยืน โดย จิตไม่เปลี่ยนแปลง จิตไม่เป็นทั้งกุศล จิตไม่ทั้งอกุศล จิตไม่เสวยอารมณ์ใดๆ จิตว่างๆ กลางๆ โล่งๆอย่าง "ต่อเนื่อง"
(๓) ที่นี้ ก็มีคำถามว่า จิต คือ อะไร ? ใจ คือ อะไร _? ผมก็มักตอบแบบง่ายๆ ว่า ใจ คือ จิตเดิมแท้ ใจคือจิตที่นิ่งๆ เป็นศูนย์ (0) เป็นกลางๆ __ จิต คือ ใจที่ไม่นิ่ง ไม่เท่ากับศูนย์ เสวยอารมณ์เข้าให้แล้ว เป็น + (กุศล) เป็น - (อกุศล)
(๔) ก่อนอื่น ขอให้ทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า สำหรับคนที่มีสติไม่มากนั้น "จิตกับความคิด"ของเขา จะมัดรวมเป็นก้อนเดียวกันเลย เมื่อจิตเกิดอาการความคิดก็เกิดอาการด้วย จิตกับความคิดไปคู่กันประดุจมือซ้ายประกบมือขวา ซึ่ง เป้าหมายในการ นั่งสมาธินั้น ผมเชื่อว่า เพื่อ แยก จิตกับความคิดออกจากกัน ให้จิตเป็นอิสระจากความคิด ให้จิตไม่มีอิทธิพลต่อความคิด ให้ความคิดไม่มีอิทธิพลต่อจิต อย่างไรก็ตาม ผู้เริ่มต้นฝึกสติ มักจะ ช่างคิด คิดๆๆๆๆ เอาแต่คิดอยู่นั่นแหละ โดยหารู้ไม่ว่า ความคิดนั้นอันตรายมากๆ ความคิดของปุถุชนนั้นมักเจือกิเลส กิเลสปนเปื้อนมากับความคิด ความคิดของเราที่จำๆเชื่อๆเอาไว้ เต็มไปด้วย ความเท็จ ความจริง ความปลอม กุศล อกุศล ดังนั้น ตราบใดที่ เรายังฝึกสติได้ไม่มากพอ ที่ แยกจิตกับความคิดออกจากกัน เราก็ยากที่จะเข้าใจ "จิต" ของเราเอง
(๕) ผมไม่ได้สอนให้ฝึก แยก "จิต กับ กาย" นะ ผมแนะนำให้ฝึกสติ เพื่อ แยก จิตกับความคิด ย้ำอีกที จิตกับความคิด ย้ำอีกครั้ง แยก "จิตกับความคิด"
(๖) ตัวการที่ทำให้ จิตเกิดอาการ หรือที่ บางท่านเรียกว่า "จิตเกิด" หรือ ท่านอาจารย์พุทธทาส เรียกว่า "จิตไม่ว่าง"นั้น คือ เจ้าความคิดนี่เอง ดังนั้น เราฝึกสติ ก็เพื่อ จะได้ เห็น (รู้สึก) ชัดๆ ว่า ความคิดวิ่งเข้าไปกระแทกจิต กระแทกตอนไหน จะได้รู้ทันท่วงที รู้ขณะที่ความคิดวิ่งชนจิตได้ยิ่งดี
(๗)ขณะที่เรากำลังทำงาน ทำกิจกรรมใดๆ เช่น ล้างจาน อ่านหนังสือ ดูหนัง ฯลฯ ความคิดของเราตอนนั้น เรียกว่า "ความคิดปัจจุบัน เป็นความคิดที่เราตั้งใจคิด และ แล้ว จู่เรา ฏ้เผลอไปคิดเรื่องอื่น เจ้าความคิดที่พาเราออกนอกเรื่อง ออกจากความคิดปัจจุบัน หลวงพ่อกล้วย ท่านเรียกว่า "ความคิดจร" ผมเรียกใหม่ว่า " จอห์นนี่ " โดย คำว่า จร คือ จรลี หรือ มาแบบไม่ได้เชิญ หรือ ลอยมาจากไหนก็ไม่รู้ ความคิดจร คือ ความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจคิด ไม่ได้เชิญ วิ่งเข้ามาเอง หรือ เผลอหลุด เปลี่ยนเรื่องคิดก็ได้ ถ้า ความคิดที่ตั้งใจเดิมวิ่งไปตามถนนทางหลวง เจ้าความคิดจร คือ ความคิดที่พาเข้าซอย แหกโค้ง เปลี่ยนถนนนั่นเอง ผิดแผน ออกนอกแผนที่ ส่วนใหญ่แล้ว เจ้า จอห์นนี่ มัก วิ่งมาชนจิต จนทำให้จิตเกิดอาการ จิตไม่นิ่ง จิตไม่ว่าง จิตไม่โล่ง
(๘) สมมติ เรามีบ้าน ๓ หลัง (ผมยืม คำสอน อาจารย์ศุภวรรณ กรีน มาใช้) บ้าน ๑ คือ กาย บ้าน ๒ คือ ใจ และ บ้าน ๓ คือ ความคิด โดย บ้าน ทั้ง ๓ หลังนี้ ครอบ ทับซ้อนกันอยู่ บ้าน ๑ อยู่ในบ้าน ๒ และ บ้าน ๓ ครอบบ้าน ๒ อีกที__ ทีนี้ คนปกติ ยังคิดๆๆๆๆ คือ มักอยู่ในบ้าน ๓ คือ เอาแต่คิด วิจารณ์โน้นนี่ ตัดสิน พิพากษา ดูถูก วิเคราะห์ ตีความ จดจำ ฯลฯ ดังนั้น จึงยากที่ จะเห็นว่ามี บ้าน ๑ และ บ้าน ๒ __ แต่ ถ้าเมื่อใด เรามาอยู่ที่ บ้าน ๑ คือ บ้านกาย เราจะเห็น บ้านใจ และ บ้านคิด ได้ชัดเจน
(๙) คำว่า "ดูลมหายใจเข้าออก" นั้น ผมขอแยกแยะคำว่า "ดู" ก่อนเลยว่า เป็นคำที่คนโบราณเขาหมายถึง ใช้ความรู้สึกของกายบริเวณที่โดนลมกระทบ รับรู้ (sensing) ว่าลมเข้าออก อุ่นเย็น แรงค่อย ฯลฯ ให้ กายบริเวณรูจมูกรับรู้ลมหายใจ อย่าไปคิด อย่าใช้ความคิด ให้กายเขารู้ (sensing) อย่าไปคิด (Thinking)แทนกาย
(๑๐) ถ้าเรายกมือขึ้น หรือกวาดมือ แหวกอากาศ ขอให้ลองรู้สึก(sensing) ว่ามีลมกระทบแขน กระทบมืออย่างไร และ กรุณาอย่าคิดแทนแขน การเปิดโอกาสให้ กายได้รับรู้โดยไม่คิดนี้ คือ การมาอยู่ที่บ้าน ๑ หรือ สติที่ฐานกาย เป็น สติแบบกายในกาย
(๑๑) เมื่อเรา ส่งความรู้สึกไปที่กาย ให้กายรู้ ( รู้ ๆๆๆ นี่เอง ที่เขาเรียกว่า สติ) กายรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกายบ้าง ตัวรู้นี้ คือ ตัว "สติ" ที่เขาว่าๆกันนั่นเอง เป็น สติ ตัวแรก ใน ๔ ตัว ของ มหาสติปัฏฐาน ๔ ( มหา คือ ใหญ่ เยอะมาก เต็มเปี่ยม)
(๑๒) เราเริ่มฝึกจากสติน้อยๆ ฝึกๆๆๆไปจนสะสมสติได้มากขึ้น เก็บคะแนนสติสะสมให้มากๆ จาก สติน้อย มินิสติ ก็กลายไปเป็น แมคโครสติ หรือ มหาสติ นั่นเอง เมื่อได้มหาสติ เราจะได้ สติแบบออโต้เมติก (automatic) หรือ ออโต้สติ นั่นคือ จะขยับตัวยังไงก็แล้วแต่ สติตามไปด้วยตลอด ซึ่งแต่เดิมต้องค่อยสร้างสติไปกำกับทุกอิริยาบท แต่ เมื่อได้ มหาสติ ทุกอิริยาบทมีสติกำกับตลอดแบบตลอดเวลา ไม่ต้องนึก สติเขาก็มากำกับให้เอง
(๑๓) สติ มี ๔ ระดับ ขอให้ฝึกไปทีละระดับ โดย ทั้ง ๔ ระดับ เรียงจากเบื้องต้น คือ กายในกาย (ให้กายรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกาย เช่น กายรู้ลมหายใจ กายรู้เหนื่อย เมื่อย เจ็บ ฯลฯ) เวทนาในเวทนา (เวทนา คือ เวทนาทางกายและใจ เจ็บกาย เจ็บใจ ทุกข์กายทุกข์ใจ) จิตในจิต (จิต คือ ผู้รับรู้อารมณ์ ฝึกจนจิตว่างๆ แล้วเอาจิตว่างไปรู้ว่าจิตไม่ว่าง) และ สุดท้าย ธรรมในธรรม ซึ่ง ผมอยากให้ฝึก กายรู้ๆๆๆๆ ให้ได้ก่อน ให้รู้จนชำนาญ อย่าข้ามขั้นไปดูจิต เพราะ หลายคนมักเผลอไปเอาความคิดไปดูจิต ไม่ได้เอาจิตว่างๆไปรู้ว่าจิตว่างหรือไม่ว่าง โดนกิเลสที่ปนมากับความคิดแย่งรู้เสียหมด
(๑๔) คำว่า "นั่งสมาธิ" ในความหมายของผม คือ นั่ง เพื่อสะสมกำลังสติ จนจิตว่าง จิตนิ่ง จิตโล่ง จิตรวมเป็นหนึ่ง จิตเป็นจิตเดิมแท้ จิตกลับสู่ปกติ จิตสว่าง จิตประภัสสร จิตเป็นศูนย์ ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะได้กำลังสติสะสมมากถึงขั้น มหาสติ หรือ "สติออโต้" นั่นเอง
(๑๕)ในการ " นั่งสมาธิ " ผม จะทำ ๓ อย่างพร้อมๆกัน ( เกือบจะพร้อมกัน สลับไปมาจนดูเหมือนพร้อมกัน)คือ (ก) ทำใจให้สบายๆ ว่างๆโล่งๆ โดย สังเกตจากที่กลสงอก จะเบาๆ สบายๆ โล่งๆ ไม่ตึง ไม่เกร็ง (ข) ฝึกสติ โดยให้ รู้ว่ามีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือ ดูพุงยุบหนอ พองหนอก็ได้ ให้กายได้รับรู้ ความร้อนที่ก้น ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รู้ ๆๆ เหน็บชา ลิ้นแตะเพดานปาก นิ้วยังสัมผัสนิ้วอยู่ ความร้อนของฝ่ามือซ้าย ที่ร้อนมากระทบหลังมือขวา ลมที่มาโดนกาย ฯลฯ (ค) มือใหม่ ผมแนะนำให้ บริกรรม พุทโธ ลมหายใจเข้ากำหนดพุทธ ลมหายใจออก กำหนด โธ ทั้งนี้ เพื่อ ให้ความคิดของเรา ยึดกับ "พุทโธ" บริกรรม เพื่อ เป็นความคิดปัจจุบัน เป็นความคิดหลัก จากนั้น เราจะพบว่า ความคิดจร จอห์นนี่จะแว่บเข้ามาเพียบเลย ความคิดจรจะมาชวนคิดออกนอก คิดออกนอกกาย จะลืมตัวรู้ของกาย เผลอไปเข้าบ้าน"คิด" และลืม บ้าน"กาย" อีกแล้ว
(๑๖) เมื่อฝึกบ่อยๆ เรา รู้เท่าทัน (คำว่า รู้ทัน คือ มีสติ)ความคิด โดยเฉพาะ ตอนที่เราไปทำงาน ไปทำหน้าที่ทางโลก เช่น เมื่อกำลังทำงานอยู่ ความคิดหลัก คือ งานที่ทำ ใจเราโล่งๆ สบายๆ รู้ๆๆด้วยกายที่เกิดเวทนา ใจที่เกิดเวทนา และ ความคิดจร คือ คิดออกนอกเรื่อง ออกไปโกรธคนโน้นคนนี้ ออกไปกังวล ออกไปอยากได้ ไม่อยากได้ ฯลฯ ความคิดจร เมื่อกระแทกใจ จนใจไม่ว่าง จะมี ความคิดที่เจือกิเลส ท่านอาจารย์พุทธทาส เรียกว่า "เฉโก"
(๑๗) เฉโก คือ ความคิดที่ผลิตออกมาตอนจิตไม่ว่าง ไม่นิ่ง เป็นความคิดที่มีลักษณะ อคติ ลำเอียง เครียดแค้น โกรธ โลภ หลง เบื่อ เซ็ง ฯลฯ
(๑๘) ในภาพ มาจาก หนังเรื่อง The Matrix ภาคแรก กิเลสมากับความคิด ความคิด คือ กระสุนที่กิเลส ( Mr Smith) ยิงใส่ พระเอก (ใจของเรา) เราจะเห็นได้ว่า กระสุน หรือ ความคิดจรนี้ กำลังถูกพระเอก ซึ่งตอนนี้ มีกำลังสติมากพอแล้ว ใช้ มือ (สติ) คว้า "จับ"ความคิดจรได้ทัน เช่น เมื่อเราได้ยินเสียงคนด่าเรา เราก็ จับความคิดจร ( ความคิดที่ตีความว่า นี่คือเรา เราโดนด่า เราต้องโกรธ มาด่าเราทำไม ใครนะบังอาจมาด่าเรา เราโกรธนะ เราไม่ชอบ เราไม่อยากฟัง ฯลฯ) ได้ทัน ความคิดจรไม่วิ่งไปชนจิต จิตก็เลยว่างๆ โล่งๆ สบายๆ ในฉากนี้ พระเอกบรรลุโสดาบัน จัดการ กับ ความคิดจรได้ทัน ซึ่ง ความคิดจรนี้ ฝรั่งเรียกว่า เสียงภายใน (Inner voice) แต่ ถ้าพลาด จิตโดนความคิดจรยิงโดน จิตเกิดอาการ เราจะ จี๊ด ปรี๊ด ร่างกายจะเปลี่ยนแปลง เช่น หายใจถี่ขึ้น เกร็งร่างกาย กำมือ แน่นหน้าอก ฯลฯ
(๑๙) ที่เราฝึก สติที่ฐานกายมากๆ จนชำนาญ มีข้อดี เพราะ จิตเป็นนามธรรม เราจะรู้ว่าจิตเกิดอาการก็ต้องอาศัยกายเป็นตัวฟ้อง เป็นตัวบอกเราทางอ้อม เป็นตัวชี้บ่ง เป็นตัวเตือนเรา เช่น เมื่อจิตโกรธ กายจะเกร็ง มือเกร็ง หัวใจเต้น หูแดง ฯลฯ ดังนั้น ผู้มีกำลังสติมากๆ เขาจะรู้ลมหายใจว่าปกติเป็นยังไง ช้าหรือเร็ว ครั้นเมื่อจิตเกิดอาการ เขาก็รู้ว่าจิตเกิดอาการ เพราะ ลมหายใจเปลี่ยนจังหวะไป ถี่ขึ้นแรงขึ้น กล้ามเนื่้อกลางอกแน่น เกร็งกล้ามเนื่อส่วนอื่นๆด้วย
(๒๐) คนที่ฝึกสติที่ฐานกายมามากแล้ว ก่อนจะร้องไห้ จะรู้ว่า กายเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ กลางอก ไล่ขึ้นมาลำคอ เมื่อเศร้ามากขึ้น จะรู้สึกตึง ขมไล่ไต่ขึ้นสองข้างแก้ม หรือ ก่อนที่จะง่วง ผู้มีสติดี รู้เท่าทันกาย เขาจะรู้ตั้งแต่ เมื่อยที่ หน้าท้อง กลางหลัง เมื่อง่วงมากขึ้น จะเมื่อยลามไต่ขึ้นมาต้นคอ ท้ายทอย ขมับ ฯลฯ เมื่อรู้ว่าจิตเศร้า จิตเบื่อง่วงนอน ก็ควรจะต้องดับ ระงับแต่เนิ่น แค่รู้ว่าจิตเกิดอากา กายเปลี่ยนแปลงก็พอแล้ว อย่าไปตามดูความโกรธ ความเศร้าเลย มันจะเคยตัว วันหน้าวันหลัง กิเลสมันรู้ทันเรา มันจะตลบหลังเรา เราจะโกรธง่าย เศร้าง่าย ดังนั้น เมื่อจิตเกิดอาการกุศลหรืออกุศลก็ให้ระงับ ไม่เอาทั้งกุศลและอกุศล จิตก็จะเป็นกลาง
(๒๑) ถ้าเข้าใจเรื่อง ทำ ๓ อย่างพร้อมกัน คือ (ก) รู้กาย (ข) ใจโล่ง และ (ค) คิดดี ทำดี ไม่เฉโกแล้ว เราจะฝึกสติได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา ทุกอิริยาบท ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน กินเข้า เข้าห้องน้ำ ถูบ้าน อ่านหนังสือ ทำงาน เลี้ยงลูก เฝ้าไข้ ขับรถ ฯลฯ
(๒๒) หลวงพ่อกัณหา ท่านสอนว่า "หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย" ก็คือ ความหมายเดียวกันนี้นี่เอง รู้ลมหายใจเข้าออก (สติที่ฐานกาย) รู้ว่าใจโล่งๆ ใจสบาย ใจติดแอร์ ชุ่มฉ่ำใจเสมอ โล่งใจเสมอ
(๒๓) เมื่อจิตว่างๆ จิตโล่งๆ มีสติกำกับอย่างต่อเนื่อง นี่แหละ คือ จิตเป็นสมาธิ จิตปราศจากกิเลสได้อย่างต่อเนื่อง
(๒๔) คนมีสติ ฝึกจิตให้เป็นสมาธิ จึงสามารถทำงานได้ ทำงานแบบจิตว่างและมีสติกำกับอย่างต่อเนื่อง อย่างออโต้ เป็นดังสำนวนของพระอาจารย์พุทธทาสที่ว่า "บวชอยู่กับงาน" นั่นเอง หรือ "ยกวัดมาไว้ที่ใจ" ก็ใช่ เช่นกัน
(๒๕) ดังนั้น คนที่ฝึกสติ ไม่ไใช่คนขี้เกียจ แต่ มักจะขยัน เพราะ สติจะดีดความขี้เกียจออกไป หลายคน มักตำหนิ ผู้ปฏิบัติว่า ฝึกแนวพุทธ เฉื่อยชา ละทิ้งสังคม ฯลฯ จึงเป็นคำวิจารณ์ของผู้ที่ยังไม่เข้าใจ เอาแต่คิดๆๆๆ เป็นผู้ที่มีกำลังสติน้อย ไม่เข้าใจเรื่อง จิตว่างๆอย่างเป็นสมาธิ ถ้าเราสังเกตดู จะพบว่า ครูบาอาจารย์ที่สอนกรรมฐาน ไม่มีท่านใดขี้เกียจ ไม่มีท่านใดละทิ้งความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ละท่านทำงานหนัก ทำเพื่อคนส่วนร่วมทั้งนั้น
(๒๖) ด้วยการฝึก กายให้รู้ๆๆๆ มีสติที่ฐานกาย จนเป็น ออโต้แบบนี้ ผู้หญิงก็ฝึกได้ ผู้ชายก็ฝึกได้ เพศที่สามก็ฝึกได้ ลักเพศก็ฝึกได้ อย่าไปดูถูกตนเองเลยนะว่าฝึกไม่ได้ ขอให้ฝึกๆๆๆเถอะ อุปมา วันไหนเดิน ๑๐๐๐ ก้าว สร้างตัวรู้ๆๆ ที่ฝ่าเท้ากระทบพื้น ได้ ๑๐ ก้าว ก็ถือว่า สะสมสติได้ ๑๐ ก้าวแล้ว ฝึกๆ สะสมสติไปเรื่อยๆ เบื่อก็ฝึก ไม่เบื่อก็ฝึก ขี้เกียจก็ฝึก ไม่ขี้เกียจก็ฝึก เมื่อไรสติเต็ม ก็จะได้ มหาสติเอง ได้ ออโต้สติเอง ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดฐานะ ไม่จำกัดความรู้ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ไม่จำกัดศาสนา
(๒๗) สำหรับมือใหม่ ผมแนะนำว่า ควรนั่งสมาธิให้ได้ทุกวัน และ ถ้าให้ดี เดินทุกก้าวให้มีสติ ทุกครั้งที่เปลี่ยนอิริยาบทก็ขอให้มีสติ ฝึก "ให้กายรู้ๆๆๆ ใจสบายๆ และ ติดดี ไม่เฉโก " ให้ได้ทั้งวัน
(๒๘) อย่างไรก็ตาม ควรเข้ากราบหลวงปู่ หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ ปรึกษาข้อปฏิบัติกับท่าน จงเข้าพบบัณฑิต อย่าเข้าใกล้คนพาล ฟังธรรมตามกาล ดูแลบิดามารดา รับผิดชอบหน้าที่ ทำอาชีพสุจริต หมั่นทำทาน (ทานก็การสละ การบริจาค เพื่อให้ ละกิเลสออกจากใจ อย่าทำทานแบบสร้างกิเลส อย่าทำแบบหวังผล) รักษาศีล (อย่างน้อย ศีล๕) และ หมั่นภาวนา ( ภาวนา แปลว่า พัฒนา) ในที่นี้ คือ สะสมสติ รู้ทันความคิดจร ทำใจสบายๆ ไม่เฉโก หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย มีสติต่อเนื่องในทุกอิริยาบท
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
ขอบคุนครับ อาจาน ^^
ReplyDeleteขอบคุณมากค่ะอาจารย์
ReplyDeleteเป็นประโยชน์มากเลยค่ะ
สาธุค่ะ ^^
สาธุ
ReplyDeleteชอบมากเลยครับ น่าจะขยาย ส่วนcontent กับ ขยายตัวอักษรหน่อย อ่านยากอะครับ ตาลาย
ReplyDeleteขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ
ReplyDeleteขอบพระคุณครับ
ReplyDeleteThis comment has been removed by the author.
ReplyDeleteอนุโมทนาบุญด้วยครับ อ.
Deleteสาธุ ขอบพระคุณครับ
ReplyDeleteอาจารย์คือผู้ชี้ทางให้ผมขอรับ...สาธุ
ReplyDeleteสาธุครับ
ReplyDeleteส จิตฺตมนุรกฺขถ จงตามรักษาจิตของตนไว้ จิตออกนอกกาย ตัวเรา ตัวเขาก็มี เมื่อเอาจิตไว้ในกาย ตัวเราก็หายไป ตัวเขาจะมีได้อย่างไร
ReplyDelete