Wednesday, August 29, 2012

ถาม ตอบ เรื่องนั่งสมาธิ

ผมขออนุญาต ตอบคำถาม ตามความเห็นของผมเอง คำถามต่างๆ ที่หลายๆท่านได้ถามผมในวาระต่างๆ (๑) ทำไมต้องนั่งขัดสมาธิ ? : ผมเชื่อว่า เป็นการ "บีบบังคับ" ในเบื้องต้น ไม่ให้เรา ขยับระยางค์ (แขนขา)ของเราได้ถนัด จิตกับความคิดจะได้ ไม่ออกไปนอกกาย ยิ่งนั่งขัดสมาธิเพชรจะล็อคขาเอาไว้ทำให้ต้องเตือนตนเอง หากคิดจะขี้เกียจ เลิกฝึกก่อนกำหนด นอกจากนี้ การนั่งสมาธินั้น เป็นรูป ๓ เหลี่ยนด้านเท่า หากเราเหยียดแข้งเหยียดขา เหยียดแขนออกไป จะเพิ่มโอกาสในการส่งจิตออกนอกได้ง่ายขึ้น และ ลักษณะของ ๓ เหลี่ยนด้านเท่าในการนั่งขัดสมาธินั้น ทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพสมดุลมาก รวมไปถึง การที่ใครๆมองมา ก็ รู้ว่า คนๆนี้กำลังนั่งสมาธิ จะได้หลีกเลี่ยงการรบกวน อย่างไรก็ตาม หากผู้ฝึก อายุมากแล้ว นั่งท่าไหนก็ได้ แต่ ทุกครั้งที่ขยับตัว ก็ให้มีสติกำกับ คือ รู้เท่าทัน รู้ทันเวทนาที่เปลี่ยนไป จาก เหน็บชาเป็นสบาย ผู้ที่กำลังสติมากแล้ว แยก "จิตกับความคิด" ได้แล้ว ไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้ เพราะ เดิน ยืน นั่งนอน ทุกอิริยาบท สามารถมีสติ ใจสบายๆ มีสติควบคุมความคิดได้แล้ว ทุกข์มาพร้อมความคิด ดังนั้น ถ้าเราดีดความคิดจรออกไปได้ ดับความคิดเฉโก ( เฉโก คือ ความคิดที่เจือกิเลส เต็มไปด้วยอัตตาตัวตน ตัวกู ของกู คำว่า เฉโก นี้ เป็นของท่านพระอาจารย์พุทธทาส) ได้ จากเดิมจิตทำงานร่วมกับความคิด เมื่อเราฝึกสติมากๆ อุปมาเป็นมีดหั่นจิตออกจากความคืด จากเดิม จิตบงการความคิด แต่ เมื่อสติมากๆ เป็นมหาสติ จิตจะว่าง ว่างจากความคิด เพราะ เรา เอาสติไปควบคุมความคิดแทนจิตได้แล้ว เมื่อเป็นมหาสติ เราจะได้ "สติออโต้" รู้ทันกิเลส หรือ รู้ทันความคิดจร ดับความคิดเฉโกได้ นี่แหละ ดับทุกข์ได้แล้ว ใจโล่งๆ ๒๔ ชั่วโมง อยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็มีความสุขแบบทางธรรม ไม่มีทุกข์ และ รับผิดชอบการงาน ทำตามหน้าที่ ไม่ขี้เกียจ ไม่เอาเปรียบสังคม
(๒) ทำไมต้องปิดตา ? : เพื่อลดอายตนะ "ตา" ลงไป เพราะ ถ้าเห็น ก็มักจะอดคิดไม่ได้ การนั่งสมาธิ ก็เพื่อ หัดสร้างกำลังสติที่ "ฐานกาย" (ดูลมหายใจ รู้ตัว รู้กายด้วยกาย )และ เฝ้าระวังความคิด โดยเฉพาะ ความคิดจร (ความคิดที่ไม่ได้เชื้อเชิญ ความคิดที่มาชวนเปลี่ยนอารมณ์ ) คำว่า " การสร้างตัวรู้ๆๆๆ" คือ การสร้างสติ นั่นเอง รู้กาย หรือ จะใช้คำว่า "สังเกตุกาย" ก็ได้ แต่ อย่าไปคิดแทนกาย ให้กายเขารู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกาย การที่เราปิดตา ก็เพื่อลดการแทรกแซงของความคิด ผู้มีสติมากๆ แยก "จิต กับ ความคิด" ได้แล้ว ก็ไม่ต้องปิดตาก็ได้ ทุกอิริยาบท สามารถมีสติ ควบคุมอารมณ์ได้ ควบคุมความคิดได้ ใจสบายๆได้แล้ว (๓) ทำไมต้องบริกรรมพุทธโธ ? : ที่ให้บริกรรมพุทธโธ เพราะ ต้องการให้ ความคิดมีหลักในการเกาะ สำหรับมือใหม่หัดฝึก "จิตกับความคิด"ยังเกาะไปด้วยกันเป็นสังขยาเละไปด้วยกัน หากไม่บริกรรม ก็จะวุ่นวายคิดโน้นคิดนี่ โดยเฉพาะ คนที่มาจากระบบการศึกษายุคนี้ คือเอาแต่คิด ยิ่งคิดก็ยิ่งหาจิตหาใจของตนเองไม่เจอ จึงต้องเอาคำบริกรรมเป็นตัวล่อ ตัวเกาะ เป็นวิหารให้อยู่ไปก่อน นอกจากนี้ การบริกรรมพุทธโธ ก็เหมือนการท่องบทคาถา ยิ่งบริกรรมมากๆ จะกลายเป็นพุทธานุสติ คำว่าพุทธโธจะฝังลงในจิตในสำนึก ว่ากันว่า ฝังในระดับจำข้ามภพชาติได้เลย อย่างไรก็ตาม เมื่อฝึกมากๆ ชั่วโมงฝึกมาก ผิวหนังที่บริเวณรูจมูกรู้ว่ามีลมเข้าออก เย็นร้อน ถี่ช้า ฯลฯ โดยไม่ได้เอาความคิดไปแทรกแซงการรู้ กำลังสติจะมากขึ้น คำบริกรรมพุทธโธนี้จะหายไปเองโดยอัตโนมัติ คนที่ชอบ บริกรรมยุบหนอ พองหนอ โดยกำหนดตาม การยุบพองของพุง ก็ทำได้ แต่ เผอิญ ไม่ได้ฝึกมาแนวนี้ เลยไม่สามารถอธิบายได้ (๔) ควรทำวันละกี่นาที ? : ถ้านั่งสมาธิ ๓๐ นาที ผมแนะนำว่า ควรเดินจงกรมก่อน ๓๐ นาทีเช่นกัน แล้ว ยืนนิ่ง สัก ๕ นาที ยืนบริกรรมพุทธโธ พร้อมกับดูลมหายใจเข้าออก ทำใจสบายๆ หลักการเดียวกันกับการนั่งสมาธิ แล้วจึงค่อย นั่งสมาธิ ๓๐ นาที เนื่องจาก ผมเรียนเรื่องกรรมฐานนี้มาจาก พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่จันทา ถาวโร (วัดป่าเขาน้อย) ซึ่งเป็นท่านเล่าให้ผมฟังว่า อาจารย์ของท่าน คือ หลวงปู่ขาว อนาลโย (วัดถ้ำกลองเพล) ท่านจะให้ เดินจงกรม ๑ ชั่วโมง ยืน ๑๕ นาที นั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมง และ ต่อด้วย เดินจงกรม ๑ ชั่วโมงครึ่ง ยิน ๑๕ นาที นั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมงครึ่ง และ เดินจงกรม ๒ ชั่วโมง ยืน ๑๕ นาที นั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง จากประสบการณ์ ผมเชื่อว่า ถ้าเดินและยืนก่อนจะมานั่ง จะนั่งได้ดี ทน และสงบเร็วมาก ปกติ ผมจะฝึก สร้างสติ ให้ฝ่าเท้ารู้ๆๆๆ ทุกก้าวที่เดิน โดยทำทั้งวัน ทุกเวลาที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเดินไปทำงาน เดินไปห้องน้ำ นั่งรอ ยืนรอ ก็ดูลมหายใจ สร้างสติกำกับทุกอิริยบท นั่นคือ ทำทั้งวัน แม้นแต่ในฝัน ก็ระลึกว่า ต้องฝึกสติ ฝึกดูลมหายใจว่าหลับที่พุทธ หรือ ที่โธ และ ตื่นที่พุทธ หรือที่โธ การฝึกสตินั้น ยิ่งมากย่ิงดี ฝึกในขณะทำงานก็ได้ มือทำไป ก็สร้างตัวรู้ ที่มือ ที่กาย ที่เท้า ทำใจสบายๆ ระวังความคิดจร คิดอยู่แต่กับเรื่องงาน ไม่อคติ ไม่ลำเอีบง ไม่เฉโก (๕) ควรไหว้พระ สวดมนต์ แผ่เมตตาไหม ? : ผมคิดว่า จำเป็นนะ ทั้งนี้ ก็แล้วแต่โอกาส สถานที่ด้วย ทำได้ก็ทำ ไม่เสียหายอะไร หรือ คิดแบบ มวยไทย ก็คือ ไหว้ครูก่อนขึ้นชก ดูแล้วกตัญญู คล้ยๆกับวอร์มอัพ (warm up) เตรียมความพร้อม หรือ อุ่นเครื่อง (๖) ว่ากันว่า ถ้าไม่มีครูอาจารย์ นั่งสมาธิแล้วจะเพี้ยน เป็นบ้าได้ จริงหรือไม่ ? : ผมเชื่อว่า การฝึกกีฬา ฝึกดนตรี ก็เหมือนฝึก "สติ" ควรมีโค้ช (coach) เป็นโค้ชที่ยังไม่ตายนะ เพราะ เราจะได้สอบถามท่าน หากผิดพลาดจะได้มีการแก้ไข หลวงปู่หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ ท่านถนอดสังขาร ไม่ละสังขาร ก็เพื่อรอเราเข้าไปถามเรื่องการฝึกนี่แหละ หลายคนนั่งสมาธิแล้ว หลงไปนิมิต หลงนิมิต เห็นโน้นเห็นนี่ นี่แหละ อาจจเพี้ยนได้ มั่วได้ คิดไปเองก็มี มั่วก็มี ฯลฯ ซึ่งถ้าพวกเขามีครูอาจารย์ และ เชื่อฟังครูอาจารย์ ทำตาม ไม่ดื้อ ก็ไม่มีทางเพี้ยน มีแต่จะสุขมากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น ดูแลคนใกล้ชิด ดูแลสังคม ทำงานได้ดีขึ้น น่ารักมากขึ้น ฯลฯ หลายคนไปวัด เอาแต่ถามเรื่องส่วนตัว เรื่องทำงาน เรื่องโลกๆ ผมคิดว่าน่าจะฝึกๆๆๆๆ และ ถามท่าน เช่น ฝึกแบบนี้ใช่ไหม ผมทำผิดหรือเปล่า ขอกำลังใจมนการฝึก ขอเทคนิคในการฝึก ฯลฯ เอาสิ่งที่พ่อแม่ครูอาจารย์สอนนี้ ไปทำต่อ แล้ว มีโอกาส ก็กลับมาถามอีก (๗) จะวัดผลการฝึก อย่างไร ? : สติมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ทั้งกาย ทั่วกาย ทุกอิริยาบท ได้สติต่อเนื่อง ลดการทะเลาะกับผู้คน ไม่โกรธใคร ดับความโกรธได้เร็ว ไม่โลภ ไม่หลง นิสัยดีขึ้น ศีลครบ น่ารักขึ้น มีน้ำใจมากขึ้น มีเมตตามากขึ้น ไม่โหด ไม่งก ไม่เค็ม รู้จักฟัง เป็นคนดี ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่พูดมาก ไม่ขี้โม้ ฯลฯ หมดคำว่า "ขี้" ทั้งหลาย ขี้เกียจ ขี้คุย ขี้งก ขี้โอ่ ขี้เบ่ง ขี้ไถ ขี้หลี ฯลฯ บางคนฝึกมาก ไปวัดบ่อยมาก แต่ นิสัยยังเต็มไปด้วย "ขี้" ดังกล่าว ก็ถือว่า สอบตก ไม่ผ่าน ไม่มีประสิทธิภาพในการฝึก หลายคนเข้าวัด ฝึกสติ แต่ ขาดเมตตา ยังโหดเหี้ยม เอาเปรียบคนอื่น ไม่ให้อภัยใคร ฯลฯ นี่ ก็สอบตก ไม่ผ่าน ไม่ก้าวหน้า (๘) ทำไมต้องมือขวาทับมือซ้าย เท้าขวาทับเท้าซ้าย ? : ตอนฝึกใหม่ ผมไม่สงสัย ไม่วิจิกิจฉา (สงสัยมาก คิดมาก) หลวงปู่จันทา หลวงพ่อกล้วย (วัดป่าธรรมอุทยาน) ท่านสั่งให้ทำอะไร ก็ทำไป ต้องไว้ใจท่าน เราเลือกท่านเป็นโค้ช ผมไม่ถามจนกว่าจะฝึกๆๆๆๆๆ ตามที่ท่านสอนแล้ว มาระยะหลังหลังนี้ มีคนถามเยอะ พวกนักคิดเยอะ พวกที่มาวัดจากการอ่านหนังสือ อ่านเว็ป เป็นผู้ชำนาญการคิด เต็มไปด้วยความคิด ทั้ง สงสัย วิจารณ์ วิเคราะห์ จับผิด คิดเทคนิคใหม่เอง อ้างอิงตำรา เปรียบเทียบคำสอนแต่ละสำนัก ฯลฯ คนคิดมากแบบนี้ ฝึก "สติ" ได้ยาก เพราะ เราต้องฝึก ให้กายได้รู้ๆๆๆ โดยไม่เอาความคิดไปแทรกแซงการรู้ของกาย กายรู้กาย จิตรู้จิต ไม่ใช่ เอาความคิดไปรู้กาย ไม่ใช่เอาความคิดไปรู้จิตนะ เวลานั่งสมาธิ ผมจะให้กายเป็นผู้สังเกต กายเป็นผู้รู้ ผมมั่วเอาเองว่า มือซ้ายใกล้หัวใจ ดังนั้น ให้กาย (หลังมือขวา) รับรู้ ความร้อนที่เกิดขึ้นจาก กาย (อุ้งมือซ้าย) กายจะสังเกตความร้อนที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ (๙) ทำไมต้องนิ้วโป้งซ้ายชนขวา หรือ นิ้วโป้งซ้ายใต้ขวา ? : เป็นการสร้างตัวรู้ กายรู้กาย นิ้วโป้งซ้ายและขวาจะชนกัน หรือทับกันก็ได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อ ให้ กายรู้กาย หากนั่งไปแล้วลืมตัว จะขาดสติที่กายรู้กาย นั่นคือ ตกภวังค์ไปแล้ว อาจจะหลับและฝันก็ได้ ดังนั้น ถ้าเราง่วง หรือดิ่งสงบ จนความรู้สึก (sensing) หายไป หรือ บางท่านบอก "กายหายไป" ผมจะไม่ดิ่ง ไม่หลับ ไม่ให้กายหายไป ไม่ยอมให้เสีย sensing แน่นอน เพราะ ผมยังรู้สึกที่ นิ้วโป้งชนนิ้วโป้งอยู่ ความร้อนจากมือซ้ายยังขึ้นมายังมือขวาอยู่ ความร้อนที่ก้นแตะพื้น ความร้อนที่ขึ้นมากระทบขา แข้ง ยังมีอยู่ ความรู้สึกของลมผ่านเข้าออกรูจมูกยังมีอยู่ รู้แม้นกระทั่ง ขนในรูจมูกลู่ไปตามลม ลมพัดโดนเส้นผม ลมพัดโดนลำตัว ก็รู้ๆๆๆๆ (๑๐) ทำไม มีพระท่านบอกว่า ฝึกในที่อากาศหนาว จะดีกว่าที่ร้อน ดีกว่าริมทะเล ? : เนื่องจากการฝึกสติ เริ่มต้นที่ กายรู็กาย การฝึกในที่หนาวๆ เราจะคิดฟุ้งซ่านน้อยลง เราจะกลับมาที่ผิวกายได้ง่าย และ การฝึกริมทะเลผมเชื่อว่า ว่อกแว่กง่าย เสียงคลื่นไม่แน่นอน แม่ค้าส้มตำ คนเปิดเพลงดังลั่น ห่วงกิน ห่วงนอน ตื่นตาตืนใจมากไป ผมเชื่อคำสอนที่ พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ ฝึกในที่ สงัด โคนต้นไม้ บ้านร้าง ป่าช้า และ ทุ่งกว้าง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ไม่มีริมทะเล ไม่มีทะเลทราย
(๑๑) ทำไมต้องนั่งสมาธิ ? : สำหรับมือใหม่ ลองนั่งไปดูก่อนนะ ชำนาญแล้ว ฝึกได้ทุกอิริยาบท ตามดู ตามรู้ ซึ่งพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงพ่อกัณหาสอนว่า "หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย" พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงพ่อกล้วย ก็สอนว่า "อยู่ที่ไหน ก็เอาสติไปเป็นเพื่อนด้วย" คำว่า นั่งสมาธิ จริงๆแล้ว ผมว่าน่าจะใช้คำว่า ฝึกสติโดยการนั่ง เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ คำว่า จิตเป็นสมาธิ คือ จิตปราศจากกิเลสได้อย่างยั่งยืน คำว่า สมาธิ คือ ต่อเนื่อง ยั่งยืน ถาวร ไม่ว่อกแว่ก ไม่เปลี่ยนแปลง ไปเพี้ยนไป (๑๒) บางคนฝึกสมาธิมานาน ทำไม ดูแล้ว ยัง จี๊ดง่าย วีนง่าย โกรธง่าย นิสัยยังไม่ดีอยู่เลย ? : ผมเชื่อว่า การฝึกสติ นั่น ฝึกแล้ว ต้อง ละ "ขี้" ทั้งหลายออกไปได้ พวกเขาอาจจะฝึกผิดก็ได้นะ จากประสบการณ์ของผม ผมเชื่อว่า ต้อง กตัญญูกตเวที คือ ดูแลพ่อแม่ให้ดี ต่อให้ฝึกสติทั้งวัน แต่ ไม่ดูแลพ่อแม่ให้ดี ก็ไม่น่าจะฝึกสำเร็จ ถึงขั้นได้ "มหาสติ" นอกจากนี้ ควรถือทำทาน ทำแบบไม่หวังผลนะ และ ควรถือศีลให้ครบ อย่างน้อยศีล๕ ต้องทำได้ การถือศีล ๕ เป็นการฝึกสติ ฝึกจิตด้วยนะ หลายคน ศีลบกพร่อง ฝึกหนักแค่ไหน ก็ยากจะพัฒนา ผมเชื่อว่า การฝึกนั้น ต้องละนิสัยไม่ดีออกไปด้วย ผมเชื่อว่า "ปฏิบัติธรรม ก็คือ ดัดสันดาน" (๑๓) การฝึกสตินั้นเอามาดัดสันดาน ยังไง ? : ถ้าเราเข้าใจเรื่อง "จิต สติ ความคิด" เราจะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะ จี๊ดๆ ปรี๊ดๆๆ โกรธใคร ออกอาการของขึ้นนั้น จะมีความคิดจรแทรกเข้ามา คนที่ฝึกสติดีแล้ว จะรู้ทันความคิดจร และ ดับความคิดจรนั้นได้ทัน หรือ รักษาสภาพความคิดปัจจุบัน เอาไว้ได้ ความคิดจรต่างๆ เช่น ตัดสินว่าคนนั้นดีเลว เก่งกว่าโง่กว่าฉลาดกว่า รังเกียจ อคติ เพ่งโทษ วิจารณ์เชิงลบ วิจารณ์เชิงบวก ติดใจ เกลียด รัก กลัว อยากได้ ไม่อยากได้ ฯลฯ
(๑๔) ทำไมต้อง ไปฝึกที่ป่าช้า ? : ที่ป่าช้านั้น เราจะฝึกดูความคิดจร ดูจิตได้ดีนะ เพราะ ในป่าช้ามันช้าพอที่จะเห็นความคิดจร สมมติเรากำลังเดินหรือนั่งในป่าช้า หายใจสบาย เดินจงกรม ความคิดปัจจุบัน คือ กำหนดพุทธโธ พอมีเสียงอะไรประหลาด ความคิดจร จะ ตีความ จะปรุงแต่ง จนจิตเกิดอาการกลัว เมื่อจิตไม่ว่าง ความคิดเฉโกจะไหลออกมาเพียบเลย ถ้าเราฝึกในเมือง ในบ้านของเรา มันเป็นป่าเร็ว คือ มีความคิดจรรัวเข้ามาเยอะและเร็วมาก ราวกับปืนกล เราจึงดูไม่ค่อยจะทัน อุปมา การฝึกในป่าช้า คือ ฝึกว่ายน้ำในสระตื้นๆ ง่ายๆ เมื่อว่ายได้ดีแล้ว ค่อยไปว่ายในทะเล ในน้ำลึก ลื่นลมแรงๆได้ นั่นคือ อยู่ในสังคม ในโลกๆได้ (๑๕) เอาแต่ไปฝึกสมาธิ ไม่สนใจทางโลก ไม่รับผิดชอบ ? : เป็นความเข้าใจผิดนะ เป็นความคิดเฉโกของผู้ที่มีกำลังสติน้อย ฝึกมาน้อย ยังติดคิดๆๆๆๆๆอยู่ เป็นคำวิจารณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ด้านคิดๆๆ ที่ยังไม่ได้ฝึก คนที่ฝึกสติดีแล้ว จะสมดุลทางโลกและทางธรรมได้ เมื่อจิตว่าง สติต่อเนื่อง จะดีดความคิดจร พวกขี้เกียจ อิจฉา ขี้ๆทั้งหลายออกไปได้ ดังนั้น จะ รับผิดชอบงานได้ดี ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง ไม่โกง ไม่งกๆเค็มๆ ตรงกันข้ามกับคนที่สติน้อย แม้นจะขยันมาก ดูแล้วว่าทำเพื่อโลกมาก แต่ อาจจะทำร้ายโลกอยู่ก็ได้ หาเงินบนน้ำตาผู้คน ร่ำรวยโดยทำลายแม่ธรณี แม่คงคาอยู่ก็ได้นะ คนพวกนี้ ไม่สมดุลทางโลกและทางธรรม อย่างไรก็ตาม ผมก็แนะนำว่า ในเบื้องต้นควรปลีกตัวมาฝึก มาเข้าใจ มารู้เทคนิค มากราบโค้ช ฯลฯ อุปมา ฝึกกอล์ฟ ฝึกงาน เขายังต้องปลีกเวลาออกมาฝึกก่อนเลยนะ ใครจะโง่ทะเล่อทะล่าเข้าไปทำงานได้เลย ยิ่งทำก็ยิ่งผิดน่ะสิ (๑๖) ทำงานหนักมาก ไปไหนลำบาก ดูแลพ่อแม่แก่เฒ่า งานยุ่งมาก ? : งั้นก็รอตายแล้ว ชาติหน้าฝึกก็แล้วกันนะ หากยังมีลมหายใจ ก็ดูลมหายใจ ก็มีเวลาฝึก มีเวลาหายใจก็มีเวลาฝึก หากมีเท้าก้าวเดิน ก็กำหนดรู้ทุกก้าว หากมีการพบปะผู้คน ก็ฝึกละความคิดจร อย่าจี๊ดๆๆ หากมีเงิน ก็ฝึกการให้ทาน หากมีพ่อแม่ลูกเมีย ก็ฝึก อดทน ให้อภัย ยอมเสียเปรียบบ้าง หากมีเวลายกช้อน จับตะเกยบ ก็ฝึกกายรู้กายที่จับช้อน จับตะเกียบ หากมีฟันมีลิ้น ก็ฝึกรู้ๆๆๆทุกคำที่เคี้ยว หากอาบน้ำ ก็ให้กายรู้กาย รู้ทั่วตัว โดนน้ำตรงไหน เย็น อุ่น สบาย หากเข้าห้องสุขา ก็สร้างตัวรู้ รู้ขี้ในลำไส้ รู้กล้ามเนื้อหูรูกขมิบตูด หากยังอ้าง ยังคิดว่าไม่มีเวลา ก็ถือว่า ปัญญาอ่อนได้ถึงขนาดนี้เลยหรือนี่ ผมว่า คนพวกนี้ ขี้เกียจ และ ขาดศรัทธาจริงๆ ยังไม่มุ่งมั่นพอมากกว่า ทีหัดกินเหล้า ขมๆ ขมจนหมายังไม่กินเลย ก็ยังหาเวลาฝึกจนกินได้ ทีหัดตีกอล์ฟ เล่นคอมพิวเตอร์ ตีแบด ใช้ไอโฟน ยังฝึกได้เลยเนอะ

7 comments:

  1. ขอบคุณมากเลยครับ

    ReplyDelete
  2. ผมว่าฝึกแรกๆก็เป็นยังนี้กันหมด ฝึกสมาธิมานาน ทำไม ดูแล้ว ยัง จี๊ดง่าย วีนง่าย โกรธง่าย นิสัยยังไม่ดีอยู่เลย ผมว่านั้นแหละก็พอมีสติดีขึ้นหน่อยเห็นตัวกิเลสแล้วแต่โดนมันหลอกซ้ำอีกที่หนึ่งจึงต้องกลับมาดูที่ฐานกายให้มากๆเพื่อมาสอบอารมณ์อีกทีหนึ่ง มองกลับกันตอนที่ยังไม่ฝึกเลยกลับปล่อยอารมณ์ตามความจี๊ดความโกรธโดยไม่รู้ตัวสึกว่าผิดเลยสักนิด

    ReplyDelete
  3. เป็นประโชยน์มากค่ะ ขอคารวะด้วยจิต

    ReplyDelete
  4. อาจานครับ คือผมนั่ง พุทโธ ก้อนิ่ง นะครับพอสักพักรู้สึกว่าตัวแข็งๆ หายใจติดๆขัดๆ หนะคับ คือไม่ทราบว่ามีวิธีแก้ไหมครับ ขอบคุนครับ

    ReplyDelete
  5. ความรู้สึก สักแต่ว่าความรู้สึก ...เราไม่ปรุงแต่ง

    ReplyDelete
  6. ขอบคุนคับ ผมอยากคุย แชทกับคุนจังจะได้สอนผมแบบละเอียด

    ReplyDelete